เมื่อนักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจในดอลลาร์ ‘คริสติน ลาการ์ด’ ประธานธนาคารกลางยุโรปจุดประกายแนวคิดว่า ‘ยูโร’ อาจก้าวขึ้นเป็นสกุลเงินทางเลือกที่แข็งแกร่ง แทนที่ดอลลาร์ได้จริง และนี่คือ ‘ช่วงเวลาของยูโรในระดับโลก’
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า “ยูโร” อาจกลายเป็นสกุลทางเลือกที่ใช้งานได้จริง “แทนดอลลาร์” และจะนำมาซึ่งประโยชน์มหาศาลแก่กลุ่มประเทศสมาชิกทั้ง 20 ประเทศ หากรัฐบาลสามารถเสริมโครงสร้างด้านการเงิน และความมั่นคงของกลุ่มให้แข็งแกร่งขึ้นได้ ตามที่คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวเมื่อวันจันทร์ (26 พ.ค.68)
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วโลกเริ่มลดการถือครองสินทรัพย์ที่เป็นดอลลาร์ เนื่องจากไม่มั่นใจในนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐที่ผันผวน แต่อย่างไรก็ตาม หลายคนยังไม่เห็นทางเลือกที่ชัดเจน และหันไปลงทุนใน “ทองคำ” แทน
ในความเป็นจริง บทบาทของ “ยูโร” ในระดับโลก ยังคงหยุดนิ่งมานานหลายทศวรรษ เนื่องจากสถาบันการเงินของสหภาพยุโรปยังไม่สมบูรณ์ และรัฐบาลต่างๆ ก็แสดงท่าทีไม่เต็มใจที่จะเดินหน้าสู่ความร่วมมือที่เข้มแข็งมากขึ้น
“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เปิดโอกาสให้เกิด ‘ช่วงเวลาของยูโรในระดับโลก’ ” ลาการ์ด กล่าวในการบรรยายที่กรุงเบอร์ลิน “ยูโรจะไม่ได้ทรงอิทธิพลโดยอัตโนมัติ แต่จะต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้มีอิทธิพลนั้น”
เพื่อสิ่งนี้ ยุโรปจำเป็นต้องมีตลาดทุนที่ลึก และมีสภาพคล่องมากขึ้น ต้องเสริมสร้างรากฐานทางกฎหมาย และต้องสนับสนุนความมุ่งมั่นในการค้าเสรีควบคู่กับความสามารถด้านความมั่นคง ตามที่ลาการ์ดได้กล่าวไว้
ที่ผ่านมา บทบาทของดอลลาร์ลดลงมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยปัจจุบัน “ดอลลาร์” คิดเป็นสัดส่วน 58% ของทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ แต่ยังคงสูงกว่าสัดส่วนของ “ยูโร” ซึ่งอยู่ที่ 20% อย่างมาก
บทบาทที่เพิ่มขึ้นของยูโร จะต้องมาพร้อมกับความเข้มแข็งทางทหารที่สามารถสนับสนุนความร่วมมือได้ด้วย ลาการ์ด กล่าว
“เพราะนักลงทุน ก็ต้องการความมั่นใจทางภูมิรัฐศาสตร์ พวกเขาลงทุนในสินทรัพย์ของภูมิภาคที่เป็นพันธมิตรทางความมั่นคงที่เชื่อถือได้ และสามารถรักษาความสัมพันธ์พันธมิตรด้วยอำนาจทางทหาร” ลาการ์ดเสริม
“ตรรกะทางเศรษฐกิจบอกเราว่า สาธารณประโยชน์จำเป็นต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณร่วมกัน และการจัดสรรงบประมาณร่วมนี้อาจเป็นรากฐานให้ยุโรปสามารถเพิ่มปริมาณสินทรัพย์ปลอดภัยได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป”
“หากยุโรปประสบความสำเร็จ ผลประโยชน์ที่จะได้รับจะมีมากมาย” ลาการ์ด กล่าว “การไหลเข้าของเงินลงทุน จะช่วยให้ผู้เล่นภายในประเทศสามารถกู้ยืมด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ช่วยปกป้องกลุ่มประเทศจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และคุ้มครองอียูจากมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ”
อ้างอิง: reuters
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ