ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ ดันเศรษฐีทั่วโลกแห่ขน “ทองคำ” ออกนอกประเทศ โดย “สิงคโปร์” ขึ้นแท่นจุดหมายยอดนิยม ยอดสั่งเก็บทอง-เงินพุ่ง 88%
วันที่ 26 พฤษภาคม 2568 เวลา 21.12 น. สำนักข่าว CNBC รายงานว่า กลุ่มมหาเศรษฐีทั่วโลกกำลังเร่งเคลื่อนย้ายทองคำของตนไปเก็บรักษาในต่างประเทศมากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่ปั่นป่วนตลาด โดยสิงคโปร์ กำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
ใกล้สนามบินของประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ มีอาคารสูง 6 ชั้นที่มีชื่อว่า “The Reserve” ซึ่งเป็นสถานที่เก็บทองคำและเงินแท่ง มูลค่ารวมราว 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวอาคารถูกหุ้มด้วยหินโอนิกซ์ (onyx) และมีระบบรักษาความปลอดภัยเข้มงวด ภายในมีทั้งห้องนิรภัยส่วนตัวและห้องเก็บกล่องนิรภัยสูงถึงสามชั้น
Gregor Gregersen ผู้ก่อตั้ง The Reserve เปิดเผยว่า ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้ คำสั่งจัดเก็บทองคำและเงินเพิ่มขึ้นถึง 88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 ขณะที่ยอดขายทองคำและเงินแท่งพุ่งขึ้น 200% ในช่วงเวลาเดียวกัน
“เศรษฐีจำนวนมากกำลังเฝ้าดูสถานการณ์ภาษี การเปลี่ยนแปลงของโลก และความไม่มั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ …การนำโลหะมีค่าไปไว้ในเขตอำนาจที่ปลอดภัยอย่างสิงคโปร์ และอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ที่เชื่อถือได้ กลายเป็นเทรนด์ใหญ่ในตอนนี้”
โดยราคาทองคำปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางความวุ่นวายจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และการเทขายสินทรัพย์ของสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ในเดือนเมษายน โดยราคาทองคำสปอตล่าสุดอยู่ที่ 3,346.32 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ราคาทองจะเริ่มเย็นลงจากความหวังในข้อตกลงการค้า แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายยังเชื่อว่า ทองคำอาจพุ่งไปถึง 5,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในปีหน้า
อีกแนวโน้มสำคัญคือ นักลงทุนรายใหญ่หันมาถือ “ทองแท่งจริง” แทน Paper Gold เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านคู่สัญญา (counterparty risk) เช่น กรณี Silicon Valley Bank ล่มในปี 2023 ทำให้ผู้คนไม่ไว้วางใจการถือทองคำในรูปแบบหน่วยลงทุนหรือในระบบธนาคาร
John Reade หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดของสภาทองคำโลก (World Gold Council) กล่าวว่า “หลายคนไม่มั่นใจระบบการเงินโลก จึงเลือกถือทองผ่านบริษัทเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคาร”
Jeremy Savory ผู้ก่อตั้ง Millionaire Migrant บริษัทที่ปรึกษาด้านสัญชาติสำหรับเศรษฐี กล่าวว่า ลูกค้าในประเทศที่ไม่มั่นใจธนาคาร เช่น เลบานอน อียิปต์ และแอลจีเรีย ไม่อยากเก็บทองในธนาคารในประเทศของตนเอง
แม้การถือทองคำแท่งจะมีต้นทุนธุรกรรมและการเคลื่อนย้ายสูงกว่าทองคำในรูปแบบกระดาษ แต่นักลงทุนระยะยาวยังคงมองว่า ความปลอดภัยและอิสระจากความเสี่ยงระบบธนาคารเป็นสิ่งสำคัญ
Nicky Shiels นักกลยุทธ์จากบริษัท MKS Pamp กล่าวว่า สิงคโปร์ได้รับสมญานามว่า “เจนีวาแห่งเอเชีย” ด้วยภาพลักษณ์ของประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นศูนย์กลางการขนส่ง (transit hub) ทำให้สะดวกต่อการเก็บและรับทองคำ ส่วนดูไบ แม้จะปลอดภัยและเป็น transit hub เช่นกัน แต่ Savory เสริมว่า การจัดเก็บทองในดูไบมีขั้นตอนเอกสารที่ยุ่งยากกว่า ซึ่งลูกค้าบางคนไม่ชอบ
อ้างอิง : cnbc.com
ที่มา : การเงินธนาคาร Money and Banking Online