.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันศุกร์ (23 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเทขายหุ้นออกมาท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันที่จะคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

 

นอกจากนี้ การเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐที่หดตัวลงเป็นเดือนที่ 3 นั้น ถ่วงตลาดลงด้วย

 

ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,590.41 จุด ร่วงลง 486.27 จุด หรือ -1.62%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,693.23 จุด ร่วงลง 64.76 จุด หรือ -1.72% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,867.93 จุด ร่วงลง 198.88 จุด หรือ -1.80%

 

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 4%, ดัชนี S&P500 ร่วง 4.6% และดัชนี Nasdaq ร่วง 5.1%

 

หุ้นทั้ง 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดตลาดในแดนลบ นำโดยกลุ่มพลังงานและกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยซึ่งร่วงลง 6.75% และ 2.29% ตามลำดับ

 

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2563 หลังจากในระหว่างวันทรุดตัวลงกว่า 800 จุด และร่วงลงมากกว่า 20% จากระดับปิดสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 36,799.65 เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ซึ่งทำให้ดาวโจนส์เข้าสู่ภาวะซบเซา

 

บรรดานักลงทุนได้เทขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากมีความวิตกมากขึ้นว่า การคุมเข้มนโยบายการเงินเชิงรุกของเฟดจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เมื่อวันพุธ (21 ก.ย.) เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกันในปีนี้ ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดอยู่ในกรอบ 3-3.25% เพื่อพยายามที่จะควบคุมเงินเฟ้อ

 

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดระบุย้ำว่า เฟดมุ่งเป้าในการบรรลุเป้าหมายด้านเสถียรภาพราคา ซึ่งเฟดคาดว่าจะต้องอาศัยการคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง และจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าแนวโน้ม และการว่างงานสูงขึ้น

 

นักลงทุนคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพ.ย. และปรับขึ้นอีก 0.50% ในเดือนธ.ค.

 

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.3 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 44.6 ในเดือนส.ค. โดยดัชนี PMI ที่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 นั้นบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว โดยหดตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

 

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์