.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลดลงเล็กน้อยในวันศุกร์ (12 พ.ค.) นำโดยหุ้นขนาดใหญ่ซึ่งปรับตัวลงหลังจากทะยานขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน

 

ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,300.62 จุด ลดลง 8.89 จุด หรือ -0.03%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,124.08 จุด ลดลง 6.54 จุด หรือ -0.16% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,284.74 จุด ลดลง 43.76 จุด หรือ -0.35%

 

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 1.1%, ดัชนี S&P500 ลดลง 0.3% และดัชนี Nasdaq บวก 0.4%

 

ดัชนีดาวโจนส์ปิดลดลงเล็กน้อยและปรับตัวลงเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันนานที่สุดในรอบ 2 เดือน

 

หุ้นเทสลา ร่วงลง 2.3% หลังจากพุ่งขึ้นมากกว่า 2% ในวันพฤหัสบดีเมื่อนายอีลอน มัสก์ ประกาศว่า เขาพบผู้ที่จะมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของทวิตเตอร์แล้ว และในวันศุกร์ เขาทวีตว่า  นางลินดา ยัคคารีโน อดีตหัวหน้าฝ่ายโฆษณาของบริษัทเอ็นบีซียูนิเวอร์แซล จะเป็นซีอีโอคนใหม่ของบริษัททวิตเตอร์

 

ดัชนี S&P500 กลุ่มเทคโนโลยี ลดลง 0.2% ขณะที่หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ลดลง 0.9% ส่วนหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคและกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวขึ้น 0.4%

 

หุ้นแอปเปิ้ล, อะเมซอน.คอม และเทสลาถ่วงดัชนี S&P500 ลงมากที่สุด อย่างไรก็ตาม กลุ่มเทคโนโลยียังคงปรับตัวขึ้นราว 22% แล้วในปีนี้

 

ส่วนหุ้นบวกสวนตลาดได้แก่ หุ้นนิวส์ คอร์ป ซึ่งทะยานขึ้น 8.5% หลังเปิดเผยผลกำไรไตรมาส 3 สูงกว่าคาด และหุ้นเฟิร์สต โซลาร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตแผงโซลาร์ พุ่งขึ้น 26.5% หลังซื้อกิจการอีโวลาร์ เอบี ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์แบบฟิล์มบางของสวีเดน

 

ตลาดถูกกดดันหลังการเปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐในเดือนพ.ค.ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2565 ขณะที่ความขัดแย้งเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐทำให้นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจด้วย

 

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงในเดือนพ.ค. ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและวิกฤตในภาคธนาคาร

 

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคร่วงลงสู่ระดับ 57.7 ในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.0 จากระดับ 63.5 ในเดือนเม.ย.

 

นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะแตะระดับ 4.5% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า และสำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 3.2% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2551

 

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงวิตกว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกของเฟดอาจฉุดเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่นายมิเชล โบว์แมน ผู้ว่าการเฟดเปิดเผยในวันศุกร์ว่า เฟดอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป หากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง

 

บรรดานักลงทุนจับตาประเด็นเพดานหนี้สหรัฐ ขณะที่มีรายงานว่าการหารือรอบ 2 ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งเดิมกำหนดมีขึ้นในวันศุกร์นี้นั้น ได้ถูกเลื่อนออกไปเป็นสัปดาห์หน้า

 

หากทำเนียบขาวและสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ภายในวันที่ 1 มิ.ย. ก็จะส่งผลให้สหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์

 

ด้านสำนักงานงบประมาณของสภาคองเกรสเปิดเผยในวันศุกร์ว่า สหรัฐจะเผชิญความเสี่ยงครั้งใหญ่ที่จะผิดนัดชำระหนี้ภายใน 2 สัปดาห์แรกของเดือนมิ.ย. หากไม่มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้

 

ที่มา  สำนักข่าวอินโฟเควสท์