ECB กำลังจะเปลี่ยนการทำ QE สู่การทำ QT

เมื่อมั่นใจว่าเงินเฟ้อกำลังจะลด กระแส Quantitative Tightening ก็กลับมา

ย้อนกลับไปในปี 2015 ทั่วทั้งยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติหนี้สาธารณะจากการใช้เงินเกินตัวต่อเนื่องมายาวนานของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ และหากยังจำกันได้ PIIGS คือตัวย่อของแต่ละประเทศที่มีปัญหาหนี้รุนแรงเกินกว่าจะเยียวยารักษาได้ในเวลาอันสั้น ในช่วงเวลานั้น ทั้งโปรตุเกส (P) อิตาลี (I) ไอร์แลนด์ (I) กรีซ (G) และสเปน (S) ต่างต้องปรับคณะรัฐมนตรี และเปลี่ยนรัฐบาลใหม่กันเป็นว่าเล่น แม้ดูเป็นเรื่องปัญหาปากท้องและการเมืองของคนละประเทศ แต่เมื่อทั้งหมดรวมกันเป็นสหภาพยุโรป (EU) ที่ผูกรวมอนาคตทางเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน มันจึงกลายเป็นวิกฤติใหญ่ที่ทุกประเทศต้องร่วมกันรับผิดชอบ

.

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คือ องค์กรกลางสำหรับประสานความร่วมมือและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างชาติสมาชิกในกลุ่ม EU โดยมีขอบเขตของอำนาจหน้าที่และเป้าหมายไม่ต่างไปจากธนาคารกลางของประเทศอื่นทั่วโลก นั่นคือ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน

.

นี่จึงเป็นเหตุให้ ECB กดดอกเบี้ยลงไปในระดับติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2014 และเพิ่งปรับขึ้นมาแตะ 0% เมื่อกลางปีที่แล้วนี้เอง ขณะเดียวกัน วิกฤติในครั้งนั้นก็เป็นเหตุให้ ECB เริ่มใช้มาตรการ Quantitative Easing (QE) ตั้งแต่ต้นปี 2015 มาจนกระทั่งสิ้นปี 2018 แต่ด้วยเศรษฐกิจยุโรปที่ยังไม่ฟื้นตัวดี บวกกับทั่วโลกได้เผชิญเข้ากับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่ โควิด-19 ECB จึงต้องหวนใช้ QE อีกรอบในช่วงระหว่างปี 2020 มาจนถึงกลางปี 2022

.

แต่เนื่องด้วย QE คือ การอัดฉีดเงินจากธนาคารกลางเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านทางการเข้าซื้อตราสารหนี้จากตลาดและภาคเอกชน เป็นการดันราคาตลาดให้สูงขึ้น พร้อมทั้งกดอัตราผลตอบแทนให้ต่ำลง จึงเป็นการกดอัตราดอกเบี้ยในตลาดไปด้วยในตัว เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์และวานิชธนกิจเกิดแรงจูงใจในการกระจายเงินทุนที่ได้รับไปสู่ภาคธุรกิจที่ต้องการ และเป็นการลดภาระหนี้ในกลุ่มธุรกิจและครัวเรือน เพื่อให้ผู้คนเกิดแรงจูงใจในการใช้จ่ายบริโภค อุปโภค และลงทุน อันจะเป็นผลย้อนกลับมาทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการขยายตัว และหนุนดันอัตราเงินเฟ้อเข้าสู่ระดับเป้าหมายในระยะยาวที่ 2%

ทว่า เหมือนวิกฤติเดียวจะยังไม่พอสำหรับยุโรป การก่อสงครามของรัสเซียที่รุกเข้ายึดดินแดนประเทศยูเครนตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ก็ก่อวิกฤติใหม่ที่แก้ยากไม่แพ้กันให้ยุโรป เศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วจากโควิด-19 ยิ่งยากจะฟื้นคืนเข้าไปอีกด้วยปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงจากอาหารและพลังงานราคาแพง เกิดเป็นความผิดปกติทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า Stagflation เรื่องจึงกลับกลายเป็นว่า เงินเฟ้อที่พยายามดันมานานหลายปีก็ยังขึ้นมาไม่ใกล้ 2% ดีดขึ้นไปถึง 10.6% และเพิ่งปรับลดลงมาอยู่ที่ 8.6% เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เอง

.

แต่อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อสูงไม่ใช่เกิดกับแค่ในยุโรป แต่แทบทุกประเทศทั่วโลกล้วนเผชิญปัญหานี้ร่วมกัน การกดเงินเฟ้อลงมาจึงถูกยกระดับขึ้นเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุดของธนาคารกลางส่วนใหญ่ในช่วงเวลานี้ QE ที่เคยใช้ในหลายประเทศ จึงถูกระงับใช้ไปโดยปริยาย เพื่อไม่ให้กลายเป็นปัจจัยเร่งเงินเฟ้อให้สูงขึ้นจนกู่ไม่กลับ

.

สำหรับการทำ QE ด้านหนึ่งคือ การเพิ่มเงินปริมาณมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่อีกด้านหนึ่งก็คล้ายกับการก่อหนี้โดยธนาคารกลาง ยอดหนี้นี้จะไปปรากฏอยู่ในงบดุลที่คล้ายกับงบดุลของธุรกิจเอกชน คือ เมื่อมีหนี้แล้ว พอถึงเวลาก็ต้องจ่ายคืน

.

ตราสารหนี้ส่วนมากมีกำหนดสิ้นสุดอายุสัญญา ธนาคารกลางสามารถปล่อยให้จบไปแล้วรับเงินต้นคืนมา โดยไม่นำเงินนั้นไปซื้อตราสารหนี้ฉบับใหม่ได้ หรือ ธนาคารกลางอาจเลือกเทขายกลับเข้าไปในตลาดก็ได้ ที่เรียกว่า Quantitative Tightening (QT) ซึ่งแบบนี้จะทำให้งบดุลลดขนาดลงเร็วกว่า และยังมีผลผลักดันให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้นจากการกดราคาตลาดไว้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดยืนอยู่ในระดับสูง อันเป็นการลดแรงจูงใจของผู้คนและภาคธุรกิจไม่ให้ก่อหนี้เพิ่ม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการลดความต้องการในการใช้จ่ายบริโภค อุปโภค และลงทุน ซึ่งจะย้อนกลับมากดให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวลงด้วย ผลลัพธ์จึงเป็นการลดเงินเฟ้อให้ต่ำลง แต่เศรษฐกิจก็เสี่ยงจะเกิดการถดถอยได้

.

อย่างไรก็ตาม หากในระบบเศรษฐกิจเกิด Stagflation ธนาคารกลางก็ต้องเลือกระหว่าง จะลดเงินเฟ้อ หรือ จะอัดฉีดเศรษฐกิจ หากทำอย่างหลัง ปัญหาเงินเฟ้อจะไม่บรรเทา และมีโอกาสสูงที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นด้วย นี่จึงเป็นเหตุให้ ECB และอีกหลายประเทศเลือกขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกดเงินเฟ้อลงไปก่อน แล้วจึงค่อยมาลดดอกเบี้ยเพื่อกู้คืนเศรษฐกิจกันในภายหลังเมื่อมั่นใจว่าปัญหาเงินเฟ้อคลี่คลายไปแล้ว

.

มาตรการ QT ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการสำคัญที่ธนาคารกลางที่เคยทำ QE สามารถหยิบมาใช้ได้เพื่อช่วยลดเงินเฟ้อลงโดยเร็ว และการนำมาใช้ก็มักเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ธนาคารกลางมั่นใจว่าจะสามารถจบปัญหาเงินเฟ้อลงได้อย่างแน่นอน ซึ่งก็คือเมื่อภาวะเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และด้วยการปรับลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันของดัชนี CPI ของยูโรโซน ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อในฝั่งผู้บริโภค แม้ core CPI จะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็ชะลอตัวลง จึงพอจะประมาณการได้ว่าภาวะเงินเฟ้อที่แท้จริงของยุโรปกำลังจะผ่านจุดสูงสุด นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นลดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจผ่านมาตรการ QT

.

คณะกรรมการ ECB จึงอาจจะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินกลางเดือนนี้ (16 มีนาคม) ควบคู่ไปกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องก็เป็นได้

ดาวน์โหลดเอกสาร