.

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงหลุดจากระดับ 1,800 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี (27 ม.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แข็งแกร่งเกินคาดในไตรมาส 4/2564

 

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ร่วงลง 36.6 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 1,793.1 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 1.131 ดอลลาร์ หรือ 4.75% ปิดที่ 22.676 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 24.1 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 1,021.8 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 15.90 ดอลลาร์ หรือ 0.7% ปิดที่ 2,366.50 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สัญญาทองคำถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 0.7% เมื่อคืนนี้ ซึ่งส่งผลให้สัญญาทองคำมีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองเงินสกุลอื่น

 

บรรยากาศการซื้อขายในตลาดทองคำได้รับผลกระทบจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมในวันพุธว่า “ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน และเฟดไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่าอาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% เมื่อพิจารณาจากตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงมากในขณะนี้”

 

นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ของสหรัฐขยายตัว 6.9% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.5% โดยเศรษฐกิจสหรัฐได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมทั้งการที่ภาคธุรกิจเพิ่มเติมสต็อกสินค้าคงคลัง

 

เมื่อพิจารณาทั้งปี 2564 ตัวเลข GDP สหรัฐขยายตัว 5.7% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2527 หลังจากที่หดตัว 3.4% ในปี 2563 ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2489 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

ที่มา  สำนักข่าวอินโฟเควสท์