.

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 25-26 ม.ค. โดยระบุว่า แม้กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าควรมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ เมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ, ตลาดแรงงาน และการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ แต่การพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น จะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ข้อมูลด้านเงินเฟ้อและข้อมูลด้านอื่น ๆ ในการประชุมแต่ละครั้ง และเฟดจะกลับมาประเมินไทม์ไลน์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมแต่ละครั้ง

 

รายงานการประชุมบ่งชี้ว่า เฟดมีความพร้อมที่จะรับมือกับตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี โดยกรรมการเฟดกล่าวว่า แม้เฟดคาดว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้ แต่เฟดก็พร้อมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

 

“กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า หากเงินเฟ้อไม่ชะลอตัวลงตามที่เฟดคาดการณ์ไว้ ก็ถือเป็นเรื่องเหมาะสมที่คณะกรรมการเฟดจะยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินในเวลาที่รวดเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ในปัจจุบัน” รายงานประชุมระบุ

 

กรรมการเฟดส่วนหนึ่งกล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงมากในปัจจุบัน อาจทำให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่เคยปรับขึ้น 0.25% ในการประชุมแต่ละครั้งในปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เฟดเริ่มเข้าสู่วงจรการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมทุกครั้งของปีนี้

 

ในการประชุมเมื่อวันที่ 25-26 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% พร้อมกับแถลงภายหลังการประชุมว่า “เนื่องจากเงินเฟ้อดีดตัวเหนือระดับ 2% และตลาดแรงงานอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง FOMC จึงคาดว่าเป็นการเหมาะสมที่จะปรับขึ้นเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในไม่ช้า”

 

แม้แถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้ระบุกำหนดเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ โดยจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2561

 

นอกจากนี้ แถลงการณ์ระบุว่า เฟดจะยังคงปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จำนวน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. ซึ่งจะส่งผลให้การทำ QE ของเฟดสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค. พร้อมกับการเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนดังกล่าวเช่นกัน

 

ที่มา  สำนักข่าวอินโฟเควสท์