.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (8 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคารซึ่งร่วงลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ดัชนี S&P500 ปิดลดลงหลังการซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน ขณะที่นักลงทุนยังคงวิตกว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะดำเนินนโยบายคุมเข้มทางการเงินเชิงรุกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,721.12 จุด เพิ่มขึ้น 137.55 จุด หรือ +0.40%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,488.28 จุด ลดลง 11.93 จุด หรือ -0.27% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,711.00 จุด ลดลง 186.30 จุด หรือ -1.34%

 

แต่ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 0.28%, ดัชนี S&P500 ปรับตัวลง 1.16% และดัชนี Nasdaq ร่วง 3.86% เนื่องจากตลาดได้รับผลกระทบจากความวิตกที่ว่าแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของเฟดจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง

 

หุ้น 7 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดบวก โดยกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้น 2.76% แต่กลุ่มเทคโนโลยีร่วงลง 1.43% และเป็นกลุ่มที่ปรับตัวย่ำแย่ที่สุด

 

หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้น 1.18% หลังร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนเมื่อวันพฤหัสบดี โดยหุ้นกลุ่มธนาคารได้แรงหนุนจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ 2.73%

 

หุ้นกลุ่มธนาคารรายใหญ่ที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นตามกัน โดยหุ้นเจพีมอร์แกน เชส พุ่ง 1.8%, หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา คอร์ป บวก 0.7%, หุ้นซิตี้กรุ๊ป เพิ่มขึ้น 1.7% และหุ้นโกลด์แมน แซคส์ พุ่ง 2.3%

 

ทั้งนี้ ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐจะเริ่มรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกในสัปดาห์หน้า ซึ่งคาดว่าจะรายงานผลประกอบการลดลงจากปีก่อนหน้า

 

หุ้นเทสลา, อินวิเดีย และอัลฟาเบท ร่วงลงราว 1.9-4.5% โดยถูกกดดันจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น

 

ดัชนี NYSE FANG+TM ซึ่งประกอบด้วยหุ้นแอมะซอน.คอมและหุ้นแอปเปิล ร่วง 1.76% และหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ร่วง 2.42%

 

หุ้นรายตัวที่ปรับตัวขึ้นยังรวมถึงหุ้นโครเกอร์ โค ซึ่งพุ่งขึ้น 2.99% หลังได้รับการปรับเพิ่มคำแนะนำลงทุน ส่วนหุ้นโรบินฮู้ด มาร์เก็ต อิงค์ ร่วง 6.88% หลังโกลด์แมน แซคส์ ปรับลดคำแนะนำลงทุน

 

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่เปิดเผยในวันศุกร์ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งพุ่งขึ้น 2.5% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.1% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.2% ในเดือนม.ค.

 

เมื่อเทียบรายปี สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งพุ่งขึ้น 19.9% ในเดือนก.พ.

 

ส่วนยอดขายในภาคค้าส่งเพิ่มขึ้น 1.7% หลังจากพุ่งขึ้น 5.0% ในเดือนม.ค.

 

นอกจากนี้ เจ้าของธุรกิจจะใช้เวลา 1.21 เดือนในการขายสินค้าจนหมดสต็อก เพิ่มขึ้นจาก 1.20 เดือนในเดือนม.ค.

 

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์