ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เปลี่ยนท่าทีโดยระบุว่า เขาไม่ได้กดดันให้องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกอีกต่อไป ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวถือเป็นประเด็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อน ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้รัสเซียตัดสินใจบุกประเทศเพื่อนบ้านที่ฝักใฝ่ตะวันตก

เซเลนสกีกล่าวว่า เขาเปิดกว้างที่จะประนีประนอม กับสถานะของ 2 ดินแดนแบ่งแยกที่สนับสนุนรัสเซีย ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ให้การรับรอง ยอมรับว่าเป็นเอกราช ก่อนเริ่มต้นโจมตียูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เซเลนสกีได้กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับเอบีซีนิวส์ของสหรัฐว่า “ตอนนี้ผมสนใจคำถามนี้น้อยลงมาสักระยะหนึ่งแล้ว เมื่อเราเข้าใจว่านาโตไม่พร้อมที่จะรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก เพราะพันธมิตรนาโตกลัวเรื่องความขัดแย้ง และกลัวที่จะเผชิญหน้ากับรัสเซีย”

เซเลนสกียังพูดถึงการเป็นสมาชิกนาโตโดยระบุว่า เขาไม่ต้องการที่จะเป็นประธานาธิบดีของประเทศที่ต้องคุกเข่าอ้อนวอนเพื่อขออะไรบางอย่าง

ทั้งนี้ รัสเซียแสดงจุดยืนมาตลอดว่าไม่ต้องการให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต ซึ่งเป็นความร่วมมือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกที่สร้างขึ้นเมื่อสงครามเย็นเริ่มต้น เพื่อปกป้องยุโรปจากสหภาพโซเวียต

อย่างไรก็ดี แม้สงครามเย็นจะยุติลงไปนานแล้ว แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานาโตได้ขยายสมาชิกออกไปทางยุโรปตะวันออกเพื่อเข้ายึดครองอดีตประเทศในกลุ่มสหภาพโซเวียต ซึ่งทำให้รัสเซียไม่พอใจ และมองว่าการขยายนาโตเป็นภัยคุกคาม โดยการเพิ่มพันธมิตรของตะวันตกใหม่ๆ ที่หน้าประตูบ้านของรัสเซีย

เพียงไม่นานก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครน เขาได้รับรองเอกราชของโดเนตสค์และลูฮานสค์ ซึ่งทำสงครามกับรัฐบาลยูเครนเพื่อแบ่งแยกดินแดนมาตั้งแต่ปี 2014 ขณะที่รัสเซียระบุว่าต้องการให้ยูเครนยอมรับว่าทั้ง 2 ดินแดนดังกล่วเป็นประเทศอธิปไตยและเป็นอิสระ

เอบีซีนิวส์ถามเซเลนสกีเกี่ยวกับความต้องการของรัสเซีย ซึ่งเขาอบว่า เขาเปิดกว้างสำหรับการเจรจา และสิ่งที่เขากำลังพูดถึงการค้ำประกันความปลอดภัย อย่างไรก็ดีภูมิภาคทั้งสองนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากใครนอกจากรัสเซีย มันจึงเป็นเหมือนสาธารณรัฐหลอก แต่เราสามารถหารือและหาข้อประนีประนอมว่าดินแดนเหล่านี้จะอยู่กันอย่างไรต่อไป

“สิ่งที่สำคัญสำหรับผมคือการที่ผู้คนในดินแดนเหล่านั้นจะใช้ชีวิตได้ตามที่ต้องการ ใครต้องการเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน ขณะที่คนในยูเครนก็จะบอกว่าพวกเขาต้องการให้พวกเขาอยู่ด้วยกัน ดังนั้นคำถามจึงยากกว่าเพียงแค่เรื่องของการยอมรับ” เซเลนสกีกล่าว

เซเลนลกีกล่าวด้วยว่า นี่เป็นคำขาดอีกข้อหนึ่ง และเราไม่ได้เตรียมการสำหรับคำขาด สิ่งที่ต้องทำคือให้ประธานาธิบดีปูตินเริ่มเข้าสู่กระบวนการเจรจาและพูดคุยกัน แทนที่จะอาศัยอยู่ในฟองอากาศของข้อมูลที่ปราศจากออกซิเจน

ขอบคุณสำนักข่าวมติชนออนไลน์