.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 800 จุดในวันศุกร์ (28 ต.ค.) ขานรับการเปิดเผยข้อมูลดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และจะลดแรงกดดันในการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์หน้า

 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,861.80 จุด เพิ่มขึ้น 828.52 จุด หรือ +2.59%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,901.06 จุด เพิ่มขึ้น 93.76 จุด หรือ +2.46% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,102.45 จุด เพิ่มขึ้น 309.78 จุด หรือ +2.87%

 

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์บวก 5.72% ขณะที่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 3.95% และ 2.24% ตามลำดับ

 

ดัชนี S&P และ Nasdaq ปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกันแล้ว และปรับตัวขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์รายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.

 

ตลาดหุ้นนิวยอร์กทะยานขึ้น เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง หลังจากที่สำนักงานสถิติกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 6.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 6.2% เช่นกันในเดือนส.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.3% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากดีดตัวขึ้น 0.3% เช่นกันในเดือนส.ค.

 

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 5.1% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.2% แต่สูงกว่าระดับ 4.9% ในเดือนส.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนส.ค.

 

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

 

นอกจากนี้ ตลาดคาดว่าการทรุดตัวของดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ในเดือนก.ย. จะทำให้เฟดผ่อนคันเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน โดยสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ดิ่งลง 10.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2553 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าดัชนีจะลดลงเพียง 4% และเมื่อเทียบรายปี ดัชนีทรุดตัวลง 31% ในเดือนก.ย.

 

การทำสัญญาขายบ้านได้รับผลกระทบจากสต็อกบ้านในระดับต่ำ, ราคาบ้านที่พุ่งสูง และการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง

 

ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย เป็นมาตรวัดจำนวนสัญญาซื้อบ้านมือสองที่มีการเซ็นสัญญาแล้วแต่ยังไม่ได้ปิดการขาย และโดยปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนสำหรับการเซ็นสัญญาจนกระทั่งปิดการขาย

 

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 84.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกันในการประชุมนโยบายวันที่ 1-2 พ.ย.นี้ และให้น้ำหนัก 51.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนธ.ค.

 

ตลาดยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทเชฟรอน, เอ็กซอน โมบิล และบริษัทอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยี

 

ข้อมูลจากรีฟินิทิฟระบุว่า บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ล่าสุดว่า ผลประกอบการไตรมาส 3 ของบริษัทในดัชนี S&P500 จะขยายตัว 4.1% เพิ่มขึ้นจาก 2.5% ที่คาดไว้เมื่อวันพฤหัสบดี

 

บริษัท 263 แห่งในดัชนี S&P500 รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ออกมาแล้ว และ 73% รายงานผลประกอบการสูงเกินคาด

 

หุ้น 10 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดบวก นำโดยกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มสื่อสาร พุ่ง 4.52% และ 2.98% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ลดลง 0.3%

 

หุ้นแอปเปิลดีดตัวขึ้น 7.6% ซึ่งได้ช่วยลดผลกระทบจากหุ้นแอมะซอน.คอมที่ร่วงลง 6.8% หลังการเปิดเผยผลประกอบการต่ำกว่าคาด

 

หุ้นอินเทล พุ่งขึ้น 10.7% หลังปรับลดคาดการณ์รายจ่าย และหุ้นที-โมบาย ยูเอส อิงค์ พุ่งขึ้น 7.4% รับคาดการณ์จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น

 

ส่วนหุ้นทวิตเตอร์ได้ถูกถอดออกจากตลาดหุ้นนิวยอร์ก หลังนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของบริษัทเทสลาเสร็จสิ้นการทำข้อตกลงซื้อกิจการทวิตเตอร์วงเงิน 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์

 

ที่มา          สำนักข่าวอินโฟเควสท์