.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (27 ก.พ.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนช้อนซื้อเก็งกำไรหลังจากตลาดร่วงลงอย่างหนักในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ดาวโจนส์ดีดตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,889.09 จุด เพิ่มขึ้น 72.17 จุด หรือ +0.22%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,982.24 จุด เพิ่มขึ้น 12.20 จุด หรือ +0.31% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,466.98 จุด เพิ่มขึ้น 72.04 จุด หรือ +0.63%

 

ตลาดได้ปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนเข้าช้อนซื้อหุ้น หลังจากดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีร่วงลงกว่า 1% ในวันศุกร์ (24 ก.พ.) และตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีดิ่งลงประมาณ 3%

 

หุ้น 7 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวกเมื่อคืนนี้ นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยพุ่งขึ้น 1.18% และดัชนีหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้น 0.83% ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคร่วงลง 0.77%

 

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ปรับตัวขึ้นหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐชะลอตัวลงเมื่อคืนนี้ โดยหุ้นอัลฟาเบท เพิ่มขึ้น 0.83% หุ้นแอปเปิ้ล บวก 0.82% หุ้นอะเมซอน ดีดขึ้น 0.28% หุ้นไมโครซอฟท์ บวก 0.38%

 

หุ้นซีเจน (Seagen) ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ ทะยานขึ้น 10.40% หลังจากหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า บริษัทไฟเซอร์กำลังเจรจาเพื่อซื้อกิจการของซีเจน ขณะที่ข่าวดังกล่าวฉุดราคาหุ้นไฟเซอร์ดิ่งลง 2.32%

 

หุ้นยูเนียน แปซิฟิก ซึ่งเป็นผู้ประกอบการทางรถไฟรายใหญ่ของสหรัฐ พุ่งขึ้น 10.09% หลังจากนายแลนซ์ ฟริทซ์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

 

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยล่าสุดนักวิเคราะห์จาก NatWest Markets คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่สูงกว่าคาดในเดือนม.ค. โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

 

นอกจากนี้ ข้อมูลที่มีการเปิดเผยล่าสุดบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่งและจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินและสินค้าด้านอาวุธ และเป็นข้อมูลบ่งชี้ถึงแผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจนั้น ปรับตัวขึ้น 0.8% ในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง  0.1% หลังจากร่วงลง 0.3% ในเดือนธ.ค.

 

ทางด้านสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) พุ่งขึ้น 8.1% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2563 และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.0%

 

ทั้งนี้ ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย เป็นมาตรวัดจำนวนสัญญาซื้อบ้านมือสองที่มีการเซ็นสัญญาแล้วแต่ยังไม่ได้ปิดการขาย และโดยปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนสำหรับการเซ็นสัญญาจนกระทั่งปิดการขาย

 

ที่มา  สำนักข่าวอินโฟเควสท์