.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (17 มิ.ย.) และร่วงลงรายสัปดาห์คิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดในรอบหลายเดือน เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังจากธนาคารกลางทั่วโลกพยายามที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ

 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,888.78 จุด ลดลง 38.29 จุด หรือ -0.13%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,674.84 จุด เพิ่มขึ้น 8.07 จุด หรือ +0.22% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,798.35 จุด เพิ่มขึ้น 152.25 จุด หรือ +1.43%

 

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 4.6%, ดัชนี S&P500 ร่วงลง 5.8% และดัชนี Nasdaq ร่วงลง 4.8% โดยดัชนีทั้ง 3 ตัวติดลบเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันแล้ว

 

ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงถูกกดดัน เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่า ภาวะเงินเฟ้อที่ระดับสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่าง ๆ อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวเข้าสู่ภาวะถดถอย และอาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนด้วย

 

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ต่างก็ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้

 

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดกล่าวในการประชุมเมื่อวันศุกร์ว่า เฟดมุ่งความสนใจไปที่การทำให้เงินเฟ้อกลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%

 

หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงอย่างรุนแรงและร่วงลงรายสัปดาห์เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563 โดยถูกกดดันจากความวิตกที่ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันดิบ

 

ส่วนหุ้นบวกนำตลาดได้แก่กลุ่มบริการด้านการสื่อสาร และกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย

 

ทั้งนี้ การซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างผันผวนในวันศุกร์ เนื่องจากตรงกับวัน quadruple witching ซึ่งเป็นวันครบกำหนดส่งมอบออปชันและสัญญาล่วงหน้ารายไตรมาสของหุ้นและดัชนีต่าง ๆ พร้อมกัน ก่อนตลาดปิดทำการในวันจันทร์ที่ 20 มิ.ย.นี้เพื่อชดเชยวันจูนทีนธ์ (Juneteenth) ของสหรัฐ ซึ่งเป็นวันหยุดเพื่อฉลองการสิ้นสุดความเป็นทาสของชาวแอฟริกันอเมริกัน

 

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่เปิดเผยในวันศุกร์ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ค. หลังจากพุ่งขึ้น 1.4% ในเดือนเม.ย.

 

ทั้งนี้ ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงาน, เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค

 

การผลิตของภาคโรงงานลดลง 0.1% ในเดือนพ.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนเม.ย.

 

ส่วนการผลิตในภาคเหมืองแร่เพิ่มขึ้น 1.3% และภาคสาธารณูปโภคพุ่งขึ้น 1.0%

 

นอกจากนี้ Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ปรับตัวลง 0.4% ในเดือนพ.ค. สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวลง 0.4% เช่นกันในเดือนเม.ย.

 

ทั้งนี้ ดัชนี LEI ถือเป็นสิ่งบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ โดยคำนวณจากตัวเลขเศรษฐกิจ 10 รายการ ซึ่งรวมถึงราคาหุ้น, คำสั่งซื้อใหม่ของภาคการผลิต, การอนุญาตสร้างบ้าน, ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค

 

ที่มา  สำนักข่าวอินโฟเควสท์