.

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (12 พ.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์ยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาความคืบหน้าในการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งหากไม่มีการปรับขึ้นเพดานหนี้ สหรัฐอาจผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 1 มิ.ย.

 

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 70 เซนต์ หรือ 0.03% ปิดที่ 2,019.80 ดอลลาร์/ออนซ์ และในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาทองคำลดลงเกือบ 0.3%

 

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 27 เซนต์ หรือ 1.11% ปิดที่ 24.154 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 38.00 ดอลลาร์ หรือ 3.44% ปิดที่ 1,067 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 40.20 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 1,513.80 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สัญญาทองคำปรับตัวลง เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้นมีราคาถูกลงและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.62% แตะที่ 102.6852 ในวันศุกร์

 

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่เปิดเผยในวันศุกร์นั้นเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคานำเข้าดีดตัวขึ้นในเดือนเม.ย. เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2565 โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน โดยดัชนีราคานำเข้าเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากลดลง 0.8% ในเดือนมี.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าดัชนีราคานำเข้าอาจเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย.

 

ส่วนผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่เปิดเผยในวันศุกร์ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงในเดือนพ.ค. ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและวิกฤตในภาคธนาคาร

 

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคร่วงลงสู่ระดับ 57.7 ในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.0 จากระดับ 63.5 ในเดือนเม.ย.

 

นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะแตะระดับ 4.5% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า และสำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 3.2% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2551

 

ที่มา  สำนักข่าวอินโฟเควสท์