.

เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญกับวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ รวมทั้งเงินฝากที่ไม่ได้รับการประกันจำนวนมาก 9 ล้านล้านดอลลาร์ในระบบธนาคารของสหรัฐ

 

สำนักข่าวเทเลกราฟรายงานว่า เหตุการณ์ธนาคารล้มครั้งใหญ่ที่สุดลำดับสองและสามในประวัติศาสตร์สหรัฐเกิดขึ้นติดต่อกันในเวลาอันสั้น โดยกระทรวงการคลังสหรัฐและธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องการให้ผู้คนเชื่อว่า เหตุการณ์ข้างต้นนี้เป็นเพียง “กรณีเฉพาะ” เท่านั้น ซึ่งถือเป็นข้ออ้างที่อันตราย

 

รายงานระบุว่า ธนาคารเกือบครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 4,800 แห่งของสหรัฐได้ใช้กองทุนส่วนเพิ่มเพื่อสำรองไว้ยามฉุกเฉิน (Capital buffer) ไปแล้ว โดยธนาคารเหล่านี้อาจไม่จำเป็นต้องเปิดเผยภาวะขาดทุนทั้งหมดต่อตลาดภายใต้กฎระเบียบการบัญชีสหรัฐ แต่นั่นไม่ได้ทำให้ธนาคารเหล่านี้รอดพ้นจากภาวะล้มละลาย

 

ศาสตราจารย์อามิต เซรู ผู้เชี่ยวชาญด้านการธนาคารจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดแสดงความเห็นว่า “นี่เป็นสถานการณ์ที่น่ากลัวอย่างมาก ขณะนี้ธนาคารหลายพันแห่งของสหรัฐจมอยู่ใต้น้ำ ผมไม่อยากให้หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐแสร้งทำเหมือนกับว่านี่เป็นเรื่องของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (FRB) เท่านั้น เพราะขณะนี้ธนาคารจำนวนมากในสหรัฐมีสิทธิ์ที่จะล้มละลาย”

 

ศาสตราจารย์เซรูกล่าวว่า ภาวะตื่นตระหนกอย่างเต็มรูปแบบจากผลพวงของการที่เฟดคุมเข้มนโยบายการเงินยังมาไม่ถึง โดยหนี้ก้อนมหึมามีความเสี่ยงที่จะต้องถูกรีไฟแนนซ์ตลอดช่วง 6 ไตรมาสข้างหน้า ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นเราถึงจะทราบว่า ระบบการเงินของสหรัฐจะสามารถลดภาระหนี้สินได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ หลังจากมีการสร้างหนี้สินมากเกินพอดีจากผลพวงของนโยบายกระตุ้นการเงินขั้นสูงในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด

 

ศาสตราจารย์เซรูและคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการธนาคารระบุในรายงานของสถาบันฮูเวอร์ อินสติติวชั่นว่า ปัจจุบันธนาคารของสหรัฐกว่า 2,315 แห่งมีสินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สิน และมูลค่าตลาดของพอร์ตเงินกู้อยู่ในระดับต่ำกว่ากว่ามูลค่าทางบัญชีถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์

 

ธนาคารเหล่านี้ได้รวมถึงธนาคารรายใหญ่ โดย 1 ใน 10 ของธนาคารที่เสี่ยงล้มละลายมากที่สุดเป็นธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบโลก เนื่องจากมีสินทรัพย์มากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนธนาคารอีก 3 แห่งเป็นธนาคารรายใหญ่ โดยศาสตราจารย์เซรูระบุว่า “นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของธนาคารที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ที่ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการทดสอบภาวะวิกฤต”

 

กระทรวงการคลังสหรัฐและบรรษัทรับประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) คิดว่าการอุ้มผู้ฝากเงินที่ไม่มีประกันในธนาคาร SVB และซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB) หลังจากธนาคารทั้งสองแห่งล้มในเดือนมี.ค. นั้นสามารถยับยั้งวิกฤตได้แล้ว และไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงเชิงระบบ

 

รายงานระบุว่า ทำเนียบขาวคัดค้านการรับประกันเงินฝากทั้งหมด เนื่องจากดูไม่ต่างอะไรจากการให้สวัสดิการทางสังคมกับคนร่ำรวย นอกจากนี้ FDIC ก็มีสินทรัพย์อยู่เพียง 1.27 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะร่อยหรอลงในเวลาอันใกล้นี้ จนท้ายที่สุดอาจต้องขอรับความช่วยเหลือด้วยเช่นกัน

 

เว็บไซต์สำนักข่าวเทเลกราฟยังระบุด้วยว่า ต้นตอที่ก่อให้เกิดวิกฤตตราสารหนี้และธนาคารในสหรัฐคือการที่เฟดและกระทรวงการคลังสหรัฐมีพฤติกรรมที่คาดเดาไม่ได้และสร้างแรงจูงใจที่ผิดปกติตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเปลี่ยนจากการดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายขั้นสูงไปสู่การคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างเข้มงวดที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน โดยในช่วงแรกเฟดและกระทรวงการคลังสหรัฐสร้างความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง และขณะนี้หน่วยงานทั้งสองได้จุดชนวนระเบิดเวลาที่ตนเองเป็นผู้สร้างขึ้น

 

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์