.

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตรหรือโอเปกพลัส ประกาศลดกำลังการผลิตอย่างเหนือความคาดหมายนั้น ถือเป็นการดำเนินการที่ไม่สร้างสรรค์ เพราะจะส่งผลให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญกับความไม่แน่นอน และเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภคในช่วงเวลาที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงมาก

 

“ดิฉันคิดว่าการที่โอเปกพลัสตัดสินใจเช่นนี้ถือเป็นการดำเนินการที่น่าผิดหวัง ดิฉันยังไม่แน่ใจว่าการตัดสินใจครั้งล่าสุดของโอเปกพลัสจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันมากเพียงใด ซึ่งเราคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะเพื่อประเมินสถานการณ์ที่แท้จริง” นางเยลเลนกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังเสร็จสิ้นการกล่าวสุนทรพจน์ในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเยลในวันจันทร์ (3 เม.ย.)

 

การแสดงความเห็นของนางเยลเลนมีขึ้น หลังจากสมาชิกกลุ่มโอเปกพลัสประกาศปรับลดการผลิตน้ำมันลงอีก 1.16 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งเป็นการดำเนินการที่เหนือความคาดหมาย เนื่องจากตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าโอเปกพลัสจะคงนโยบายการผลิตน้ำมันจนถึงสิ้นปีนี้

 

ทั้งนี้ การตัดสินใจครั้งล่าสุดส่งผลให้ปริมาณการปรับลดการผลิตน้ำมันโดยรวมของโอเปกพลัสอยู่ที่ 3.66 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.7% ของความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก

 

นางเยลเลนกล่าวว่า ราคาน้ำมันเบนซินที่ปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดในปีที่แล้วนั้นได้ช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อ และแต่สถานการณ์อาจย่ำแย่ลงหากราคาน้ำมันเบนซินกลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้งหลังการตัดสินใจของโอเปกพลัส

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ราคาน้ำมัน WTI ทะยานขึ้นกว่า 6% ในวันจันทร์ หลังจากการตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิตของโอเปกพลัสส่งผลให้เกิดความกังวลว่าอุปทานน้ำมันในตลาดโลกจะเผชิญภาวะตึงตัว

 

“เห็นได้ชัดว่า การตัดสินใจของโอเปกพลัสไม่เป็นผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่กลับจะทำให้เศรษฐกิจเผชิญกับความไม่แน่นอน และยังเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภคที่เผชิญกับความยากลำบากอยู่แล้วจากปัญหาเงินเฟ้อสูงในขณะนี้ ดังนั้นการแก้ปัญหาและลดภาระเหล่านี้คือการทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง” นางเยลเลนกล่าว

 

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์