คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

เครื่องมือ FedWatch Tool แสดงตัวเลขความเชื่อมั่นล่าสุดของนักลงทุนว่ามีโอกาสอยู่ที่ราว 70% ที่เฟดจะประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 4.75-5.00% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินวันที่ 21-22 มี.ค. ซึ่งเราจะมาพิจารณาความเป็นไปได้ที่เฟดยังคงมุ่งมั่นจะกดเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ยกัน

.

เริ่มต้นจากสถานการณ์ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้าการประชุมครั้งสำคัญ ที่คล้ายเป็นจุดพลิกผันเพิ่มความเสี่ยงผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดสภาพคล่องจนถึงขั้นล้มละลายลงของธนาคารขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารซิลเวอร์เกต ธนาคารซิลิคอนแวลลีย์ ธนาคารซิกเนเจอร์ ธนาคารเครดิตสวิส และอีกหลายธนาคารที่เริ่มมีสัญญาณความเสี่ยงว่าอาจขาดสภาพคล่องและกำลังดิ้นรนค้นหาผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ให้เข้ามาช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กับธนาคาร เป็นเหตุให้นักลงทุนในตลาดต่างคิดถึงความเป็นไปได้ที่เฟดจะคงหรือกระทั่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย แทนที่จะปรับขึ้นต่อไป

.

อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงตามถ้อยแถลงของประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ ที่กล่าวย้ำให้ตลาดรับทราบมาโดยตลอดว่า เฟดมีเป้าหมายอยู่ 2 ประการ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวที่ระดับ 2% กับ ตลาดแรงงานที่มีเสถียรภาพ เราจึงควรนำ 2 ประเด็นนี้มาเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกหรือไม่

.

ประการแรก รายงานอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯผ่านตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ล่าสุดในเดือน ก.พ. อยู่ที่ 6% เป็นการลดระดับลงมาต่อเนื่อง 8 เดือนติดต่อกัน แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียด เราจะพบว่า ราคาอาหารยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง และราคาพลังงานก็ชะลอลงจากการลดลงของราคาน้ำมัน ไม่ใช่จากค่าไฟฟ้าและค่าแก๊สหุงต้ม

.

และเมื่อเราพิจารณาต่อไปยัง core CPI ตัวเลขล่าสุดในเดือน ก.พ. อยู่ที่ 5.5% เป็นการลดระดับลงมาต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน แต่สาเหตุหลักที่ชัดเจนเกิดจากการทรุดลงของราคาตลาดรถมือสอง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการเดินทางยังคงเร่งตัวสูงขึ้น นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ดัชนี PCE ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ประชาชนต้องเผชิญจริง ๆ กลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

.

ประการต่อมา อัตราการว่างงานเดือน ก.พ. ในเกือบทุกกลุ่มประชากรต่างขยับเพิ่มขึ้นจากตัวเลขในเดือน ม.ค. โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับชั้นมัธยม นอกจากนี้ เป็นที่สังเกตว่า ผู้มีเชื้อสายเอเชียกำลังตกงานมากขึ้น ทั้งที่ตามปกติแล้ว มักเป็นกลุ่มที่มีอัตราการว่างงานต่ำมาก ทำให้อัตราการว่างงานประจำเดือน ก.พ. พลิกตัวบวกขึ้นจาก 3.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 54 ปี มาอยู่ที่ 3.6%

แต่อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่ 3.6% นั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และยังต้องรอดูต่ออีกอย่างน้อย 2-3 เดือน ว่าตัวเลขจะสูงขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ด้วย ทั้งนี้ อัตราการว่างงานมักแกว่งตัวคาบเกี่ยวช่วง 4-8% ทำให้ค่าเฉลี่ยในระยะยาวอยู่ที่ประมาณ 6% และสังเกตได้ว่า เมื่ออัตราการว่างงานเข้าใกล้ 8% ก็มักจะลดระดับลงมา

.

จากสองข้อควรพิจารณาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อที่มีโอกาสบวกกลับขึ้นไป และการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ จึงมีความเป็นไปได้มากว่า เฟดจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. อีก 0.25% และมีโอกาสที่คณะกรรมการทั้งหลายจะปรับเปลี่ยนมุมมองต่ออัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปีนี้ ว่าควรจะอยู่ที่เท่าไรให้สาธารณชนได้รับทราบผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Dot Plot

.

แต่สิ่งที่ตลาดจับจ้องยิ่งกว่าการปรับดอกเบี้ยขึ้นก็คือ ถ้อยแถลงของประธานเฟด เพราะจากสถานการณ์ที่ย่ำแย่ในตลาดการเงินตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนจึงต้องการจะทราบว่า เฟดมองสถานการณ์นี้อย่างไร? วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นแล้วรึยัง? เฟดพร้อมจะมีมาตรการอะไรต่ออีกหรือไม่? Bailout จะขยายกลายเป็น QE ไหม? และเฟดมีโอกาสจะลดดอกเบี้ยลงในปีนี้บ้างไหม?

ดาวน์โหลดเอกสาร