อัตราเงินฟ้อสหรัฐฯ ปรับลงช้ากว่าที่คาด ทำให้นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจจะไม่ Soft Landing

นับจากกลางปีที่แล้วเป็นต้นมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 2 ปี ก็วิ่งแซงหน้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Inverted Yield Curve ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ เนื่องจากโดยหลักการลงทุนแล้ว ยิ่งเราเอาเงินไปติดอยู่ในสินทรัพย์ใดนานๆ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียโอกาสในการได้รับผลตอบแทนจากทางอื่นที่อาจจะดีกว่าที่เราถืออยู่ได้มากขึ้นเท่านั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตร หรือ ดอกเบี้ยที่นักลงทุนจะได้รับหากซื้อพันธบัตรฉบับนั้น ก็ควรสูงขึ้นตามระยะเวลาที่ต้องถือครอง ดังนี้แล้ว อัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรที่มีอายุสั้นกว่าจึงควรต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่มีอายุยาวนานกว่าด้วย

.

ปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดความผิดปกติที่เรียกว่า Inverted Yield Curve นั้น มาจากความคิดความเห็นของนักลงทุนในตลาดว่าเศรษฐกิจกำลังจะแย่และเกิดภาวะถดถอยได้ในอนาคตอันใกล้ การจะถือสินทรัพย์เสี่ยงต่อไปจึงอาจเกิดการขาดทุนได้มาก จึงทำการปรับพอร์ตด้วยการถือเงินสดมากขึ้น พร้อมทั้งเปลี่ยนเงินลงทุนบางส่วนให้กลายเป็นตราสารหนี้เพื่อล็อกผลตอบแทนล่วงหน้าในภาวะที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงกำลังจะปรับลดลงด้วย

.

แต่เนื่องจากความไม่แน่นอนในเรื่องระยะเวลาการเกิดและคงอยู่ของวิกฤติเศรษฐกิจ จึงเป็นการปลอดภัยกว่าถ้าจะถือพันธบัตรระยะยาวที่อายุการถือครองสามารถข้ามผ่านช่วงเศรษฐกิจถดถอยทั้งหมดได้ และด้วยความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ราคาพันธบัตรระยะยาวกว่าจึงดีดขึ้นแรงกว่า กดให้ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่จะได้รับจากการถือนั้น ลดลงจนต่ำกว่าพันธบัตรที่มีอายุสั้นกว่า จนเกิดเป็น Inverted Yield Curve

.

เราจึงมักนำ Inverted Yield Curve มาเป็นหนึ่งในดัชนีสำคัญที่ชี้วัดว่าเศรษฐกิจมีโอกาสจะถดถอย โดยล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตัวเลขดังกล่าวถูกการประกาศดัชนี CPI, core CPI, PPI และ core PPI ที่ผิดคาดของสหรัฐฯ กดดันให้ลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 42 ปี อีกครั้ง เพราะแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค ต่างปรับตัวลดลงต่อเนื่องก็จริง แต่การชะลอตัวลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็เป็นการสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกดเงินเฟ้อได้ต่อไปอีกหลายครั้ง ทั้งยังสามารถทำให้เฟดตรึงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงได้นานขึ้นจนกว่าจะมั่นใจว่าสหรัฐฯสามารถหลุดพ้นจากการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อแล้วจริงๆ

.

นี่จึงกลายเป็นข้อกังวลของนักลงทุนในตลาดว่า หากเฟดเลือกจะขึ้นดอกเบี้ยไปจนสุด และจะยังไม่ปรับลดลงเลยตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ แล้วเศรษฐกิจเกิดถอยตัวลงลึกหรือแรงกว่าที่ประเมินกันไว้ เฟดจะสามารถดึงให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นคืนได้หรือไม่ หรือว่าจะเปลี่ยนจากการสู้กับเงินเฟ้อไปเป็นการสู้กับเศรษฐกิจถดถอยแทน

การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ขึ้นมาอยู่เหนือ 5% อีกครั้ง จึงเป็นไปในลักษณะที่ตลาดแสดงความเชื่อมั่นว่า เฟดพูดจริงเรื่องการลดเงินเฟ้อ และทำจริงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย แต่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 2 ปี กับ 10 ปี ที่ถ่างกว้างมากขึ้น ก็สะท้อนถึงความวิตกกังวลในหมู่นักลงทุนเช่นกันว่า ปีนี้อาจยังไม่ใช่จุดต่ำสุดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และปีหน้าก็อาจจะไม่ได้ฟื้นขึ้นแบบ V-shape เพราะเฟดอาจจะกลับทิศนโยบายการเงินมาเป็นการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ทันท่วงทีก็เป็นได้

.

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แล้วจะไม่ปรับลดลงเลยตลอดทั้งปี ก็ได้กลายเป็นปัจจัยลบสำหรับราคาทองคำไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะเงินดอลลาร์มีแนวโน้มจะอ่อนค่าช้าลงตลอดครึ่งแรกของปีนี้ แม้จะมีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจกดดันอยู่ ส่วนในช่วงครึ่งหลังจะเป็นเช่นไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าเฟดจะเปลี่ยนท่าทีเรื่องการปรับดอกเบี้ยหรือไม่ จึงอาจกล่าวได้ว่า คำถามที่ตลาดอยากทราบมากที่สุดในเวลานี้คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเกิด Soft Landing ตามที่ประธานเฟดว่าไว้ หรือว่าจะเป็น Hard Landing อย่างที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดกันแน่

ดาวน์โหลดเอกสาร