จับตาการประชุม G20 ในวันที่ 9-10 ก.ย. นี้

Gold Bullish

  • ภาวะเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
  • ความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตภาคธนาคาร
  • ความเสี่ยงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

Gold Bearish

  • การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาทองคำปรับตัวขึ้นในระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือน จากดอลลาร์อ่อนค่า และ Bond yield สหรัฐลดลง  หลังจากจีดีพีสหรัฐไตรมาส 2 ขยายตัว 2.1% ต่ำกว่าตลาดคาด และดัชนี PCE พื้นฐานของสหรัฐเดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 4.2% เท่ากับตลาดคาด ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่าเฟดอาจไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำเริ่มชะลอการปรับตัวขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนส.ค. สูงกว่าตลาดคาด ทั้งนี้ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นตลาดแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งหากข้อมูลดังกล่าวสนับสนุนต่อการยุติการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะส่งผลบวกต่อราคาทองคำให้ปรับตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

.

ประกอบกับสิ่งที่ต้องจับตาคือความเสี่ยงของความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยในสัปดาห์นี้จะมีการประชุม G20 ที่มีกำหนดในวันที่ 9-10 ก.ย. นี้ ซึ่งมีข่าวว่าจีนจะไม่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ หลังจากที่จีนได้มีการเปิดเผยแผนที่ใหม่ของจีน ทำให้หลายประเทศมีความไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากกระทบต่อประเทศอินเดีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์  แผนที่บางแห่งที่ปรากฎในแผนที่ใหม่ของจีนเป็นพื้นที่ที่อินเดีย ฟิลิปปินส์อ้างเป็นกรรมสิทธิ์ว่าเป็นของอินเดีย ฟิลิปปินส์ โดยกระทรวงทรัพยกรธรรมชาติจีนเผยแพร่ “แผนที่มาตรฐาน” ฉบับปี 2566 ของจีน โดยอ้างว่า รัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดียและที่ราบสูงอักไสชิน (Aksai Chin) เป็นดินแดนของประเทศจีน ขณะเดียวกันแผนที่ฉบับดังกล่าวยังรวมพื้นที่ทางทะเลนอกชายฝั่งเกาะบอร์เนียวของมาเลเซียและไต้หวัน รวมถึงพื้นที่ต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง จึงอาจสร้างความตึงเครียดระหว่างอินเดียกับจีนมากขึ้นได้ หลังจากที่จีนและอินเดียพึ่งจะพบประในการประชุม BRICS ที่ผ่านมา และสัญญาว่าจะจับมือกันเพื่อลดความตึงเครียดในพรมแดน  ขณะที่ช่วงหลังอินเดียเชื่อมความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกามากขึ้น ซึ่งนางเจเน็ต เยลเลน ก็จะเดินทางเยือนอินเดียเพื่อร่วมประชุม G20 และหาทางกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจกับอินเดียมากขึ้น

.

ก่อนหน้านี้การประชุม G20 ที่จะจัดขึ้นในอินเดียปีนี้ หลายฝ่ายต่างคาดหวังว่าอินเดียจะกลายมาเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อรัสเซียในการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากว่าอินเดียจะมีอิทธิพลทางการค้ากับรัสเซีย จากที่ต้นปี 2565 รัสเซียส่งออกน้ำมันไปยังอินเดียยังน้อยกว่า 2%  แต่ขณะนี้กำลังจะกลายเป็นซัพพลายเออร์รายเดียวที่ใหญ่ที่สุด ไม่เพียงแค่นั้น อินเดียยังนำเข้าสินค้าจากรัสเซียอีกหลายอย่าง อย่างเช่น เหล็ก ซึ่งรัสเซียแซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้วกลายเป็นซัพเพลายเออร์อันดับ 2 ของอินเดีย การประชุม G20 ในครั้งนี้จึงสร้างความคาดหวังว่าอินเดียจะเป็นตัวกลางเจรจากับรัสเซียได้ แต่ทางด้านประธานาธิบดีปูติน ผู้นำรัสเซียก็ได้ประกาศมาแล้วว่าจะไม่เดินทางไปยังกรุงนิวเดลี แต่จะส่งนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมประชุมแทน

.

ซึ่งการประชุม G20 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียในครั้งนี้ เป็นเวทีสำหรับประเทศต่าง ๆ ในการประสานความพยายาม ส่งเสริมความร่วมมือและการเจรจาระหว่างประเทศ ในด้านความท้าทายระดับโลกที่กำลังเผชิญ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาหนี้ เงินเฟ้อ สงครามรัสเซียที่ยังส่งผลต่อความไม่มั่นคงในภูมิภาค และกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานทั่วโลก และประเด็นอื่นๆที่สำคัญ ซึ่งนับว่ากลุ่มประเทศ G20 คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% ของ GDP ทั่วโลก หรือ 3 ใน 4 ของการค้าโลก ซึ่งนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก

คาดว่าสัปดาห์นี้ราคาทองคำจะเคลื่อนไหว Sideways สัปดาห์นี้ราคาทองคำมีแนวรับอยู่ที่  1,930 ดอลลาร์ และ 1,915 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 1,953 ดอลลาร์ และแนวต้าน 1,966 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 32,000 บาท และ 31,850 บาท ขณะที่มีแนวต้านที่ 32,350 บาท และ 32,450 บาท

ดาวน์โหลดเอกสาร