เงินเฟ้อของไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
.
กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อแบบทั่วไป ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และแตะระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน โดยอยู่ที่ +3.79% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากราคาพลังงานปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งราคาอาหารสดที่ปรับตัวลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคขั้นพื้นฐาน (core CPI) หรือ อัตราเงินเฟ้อที่ไม่คิดรวมราคาอาหารและพลังงาน ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ +1.93% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
จากภาพ จะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อของไทยได้ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐานได้ปรับขึ้นแบบชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเวลาเดียวกับ และเพิ่งปรับตัวลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ตามการประกาศล่าสุดในวันนี้
.
แม้ว่า core CPI เพิ่งปรับตัวลดลงได้เพียงเดือนเดียว แต่หากมองการชะลอตัวลงในภาพรวม ผนวกเข้ากับความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบแล้ว ก็สามารถประเมินได้ว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เพราะเมื่อพิจารณาจากภาพราคาน้ำมัน เราจะพบว่าระดับสูงสุดของปีอยู่ในเดือนกุมภาพันธ์ และตลอดทั้งปีมีช่วงแกว่งระหว่าง 70-135 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่ระดับราคาน้ำมันของปีนี้เคลื่อนไหวในกรอบจำกัดระหว่าง 72-83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนมากๆ และด้วยภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ที่ทั่วโลกมีทิศทางชะลอตัว ค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันดิบตลอดทั้งปีจึงน่าจะต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อัตราเงินเฟ้อของไทยจึงไม่ควรกลับขึ้นไปยืนที่ระดับสูงได้อีก เว้นแต่จะมีเหตุการณ์พิเศษเข้ามากระทบ
ที่มา : Aspen
จึงเป็นโจทย์สำคัญของแบงก์ชาติว่าจะยังขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกหรือไม่ ถ้าใช่ เหตุผลของการปรับขึ้นจะยังคงเป็นการกดเงินเฟ้ออยู่อีกหรือไม่ หรือว่าแบงก์ชาติจะเริ่มเปลี่ยนท่าทีเป็นกังวลเงินเฟ้อน้อยลง แล้วหันมากังวลกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับของต่างประเทศมากขึ้นกันแน่ เพราะถ้ายิ่งดอกเบี้ยห่างกันมากเท่าไร เงินทุนก็ยิ่งไม่อยากจะไหลเข้า และอยากจะไหลออกมากกว่า เงินบาทก็จะอ่อนค่า ราคาทองคำในประเทศก็จะได้แรงหนุนทางบวก